การศึกษาระยะเวลาที่พักรักษาของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาล โดยใช้สมการทางสถิติมาอธิบายถึงความแปรปรวนของระยะเวลาที่พักรักษา ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลจำนวน 257,076 ราย ที่ได้จัดส่งรายงานมายังกระทรวงสาธารณสุข จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ถึงเดือนกันยายน 2550 ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ ได้พิจารณาโรคที่เป็นสาเหตุหลักตามระบบ ICD-10 ในการเข้ารับการรักษา อายุ เพศ การจำแนกขนาดโรงพยาบาลตามจำนวนเตียงและเขตพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล เป็นตัวแปรที่ใช้ในการอธิบายระยะเวลาที่พักรักษาในโรงพยาบาล โดยใช้การทดสอบไคสแควร์ (chi-square test) และการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกพหุคูณ (Multiple logistic regresssion) ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอธิบายกับระยะเวลาที่พักรักษาในโรงพยาบาล
การศึกษาพบว่าตัวแปรที่ศึกษาสามารถอธิบายระยะเวลาที่พักรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติ (p-value <0.05) มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่ใช้ระยะเวลาพักรักษานานกว่าหนึ่งสัปดาห์โดยเฉลี่ยร้อยละ 35.2 ของผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมด สัดส่วนของการพักรักษานานกว่าหนึ่งสัปดาห์จะเพิ่มขึ้นตามอายุและขนาดของโรงพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบด้วยสาเหตุการป่วยจากโรคต่าง ๆ พบว่ากลุ่มของอุบัติเหตุใช้ระยะเวลาที่พักรักษานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ในสัดส่วนที่ต่ำสุด ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคมะเร็งใช้เวลาพักรักษานานกว่า หนึ่งสัปดาห์ในสัดส่วนที่สูงสุด เมือ่เปรียบเทียบระยะเวลาของการพักรักษานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ พบว่ากรุงเทพมหานครมีสัดส่วนสูงที่สุด ในขณะที่กลุ่มของจังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้จากกรุงเทพมหานคร พบว่ามีสัดส่วนของการพักรักษามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ต่ำที่สุด