ความสำคัญและที่มาของปัญหา : การสูงวัยของประชากรเป็นประเด็นสำคัญ ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในขณะปัจจุบันนี้ เนื่องด้วยองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงสัดส่วนของผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ของประชากรโลกไว้ว่า จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในปี พ.ศ.2528 เป็นร้อยละ 9.5 ในปี พ.ศ.2568 ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมากนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุของประชากร กล่าวคือ ร้อยละของประชากรสูงอายุ จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขทำให้ประชากรมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยเด็กจะลดลงเนื่องจากความสำเร็จใน การคุมกำเนิด วางแผนครอบครัว และประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินงานนโยบายประชากร เพื่อลดภาวะเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุสำคัญที่มีผล ต่อ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางอายุของประชากร โดยขนาดและสัดส่วนของประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง คือ จาก 1.2 ล้านคนในปี พ.ศ.2503 เป็นประมาณกว่า 3 ล้านคนในปี พ.ศ.2530 หรือจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6 ในช่วงเกือบ 3 ทศวรรษ โดยคาดประมาณว่า จะเพิ่มเป็นร้อยละ 9.13 ในปี พ.ศ.2543 และร้อยละ 13.1 ในปี พ.ศ.2563(กระทรวงสาธารณสุข.2547) ทั้งนี้เนื่องจากอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ของคนไทยเพิ่มขึ้น โดยคาดประมาณว่า อายุขัยเฉลี่ยของชาย และหญิงไทย จะเพิ่มเป็น 69.50 ปี และ 73.58 ปี ตามลำดับ ในปี พ.ศ.2553-2568 (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ : 2535) การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ทั้งในเชิงปริมาณ และสัดส่วนในโครงสร้างทางอายุของประชากรไทย ย่อมส่งผลกระทบ ต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม และแบบแผนปัญหาสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ คณะผู้จัดทำโครงการได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรของผู้สูงอายุที่ส่งผลให้มีจำนวนมากขึ้นตามลำดับเวลาดังนั้นในการที่จะดูแลประชากรกลุ่มนี้ให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดีได้นั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องทำให้ผู้สูงอายุตระหนักและเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพของตนเองไม่ปล่อยไปตามสภาพของร่างกายที่เสื่อมโทรมไป วิธีการที่ดีและเป็นที่ยอมรับก็คือการให้ความรู้แก่ผูสูงอายุในการดูสุขภาพของตนเอง แต่เนื่องด้วยรูปแบบ วิธีการ และแนวทางในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีอยู่มากมายที่ที่มีอยู่ในตัวของผู้สูงอายุเอง และจากแหล่งความรู้ต่างๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการรวบรวมและการจัดการองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ คณะผู้จัดทำโครงการจึงได้นำแนวคิดและหลักการของการจัดการความรู้มาใช้ในการโครงการการจัดการความรู้ เรื่อง ผู้สูงอายุกับการเรียนรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ |